สังคมน่าอยู่ด้วยจิตอาสา



ความเป็นมาของจิตอาสาในประเทศไทย

        จิตอาสา เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สินของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะมีเหล่าจิตอาสาไปช่วยเหลือ จิตอาสาคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เรามีความรู้เรื่องนี้มาฝากกันค่ะ
        จิตอาสา มีที่มาจากการรวมกันของคำสองคำ คือคำว่า “จิต” และคำว่า “อาสา” จิต หมายถึง จิตใจหรือความรู้สึกนึกคิด ส่วนอาสานั้น หมายถึง การทำสิ่งใดด้วยความสมัครใจโดยไม่มีผู้ใดบังคับ เมื่อนำสองคำมารวมกันก็กลายเป็นจิตอาสา ซึ่งหมายถึง การกระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความสมัครใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้วยแรงกายหรือสิ่งของเงินทอง การเห็นประโยชน์ส่วนรวมสำคัญ จำเป็นมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยสามารถสรุปพฤติกรรมของผู้มีจิตอาสาได้ ดังนี้
– มีจิตใจเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น เข้าช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกเท่าที่ตนเองสามารถทำได้ ทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังใจโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือกระทั่งการให้ความรู้คำแนะนำ ล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยเหลืออย่างจิตอาสาทั้งสิ้น
– มีจิตใจเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เสียสละเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
– มีจิตใจมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น มีพฤติกรรมที่ใฝ่หาความรู้และเพียรพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของส่วนรวม โดยไม่ขัดกับระเบียบวินัย กฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม
– มีจิตสาธารณะ มีการประพฤติปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอยู่เสมอ รวมถึงการเข้าร่วมหรือให้ความร่วมมือกับชุมชนหรือสังคม ช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลรักษาสมบัติที่เป็นของส่วนรวมเท่าที่ตนทำได้ เคารพสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น
            กำเนิดของเครือข่ายจิตอาสาในประเทศไทย
         กลุ่มที่ทำงานจิตอาสานั้นอาจกล่าวได้ว่ามีมานานแล้วแต่เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ แต่ถ้าหากจะเป็นเครือข่ายจิตอาสาขนาดใหญ่ที่เป็นหน่วยงานอย่างจริงจังของประเทศไทยนั้น ก่อกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์อันน่าสลดใจของภัยสึนามิครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ที่เราได้สูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นมีอาสาสมัครจากนานาประเทศเข้ามาช่วยเหลือกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปต่างก็ระดมความช่วยเหลือในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตแต่ได้รับบาดเจ็บกับความเสียหาย การกู้ซากศพของผู้เสียชีวิต การทำความสะอาด ปรับปรุงสถานที่ที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น กระตุ้นให้คนไทยเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกันด้วยหัวใจที่ไม่หวังผลตอบแทน จากนั้นมาจึงเกิดการรวมกลุ่มจากทั้งผู้คนกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสืบสานพลังแห่งน้ำใจอันงดงามในครั้งนี้ขึ้น กลายเป็นเครือข่ายจิตอาสาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือ สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับสังคมไทยนั่นเอง

ขอบคุณบทความจาก http://ctif2013.org/ความเป็นมาของจิตอาสาใน/